Into the Haze ผลงานของผู้พัฒนาชาวไทยกับการเอาตัวรอดบนตึกสูงระฟ้า 40 ชั้น

into-Haze-01

Into the Haze ผลงานของผู้พัฒนาชาวไทยกับการเอาตัวรอดบนตึกสูงระฟ้า 40 ชั้น

วันเวลาผันผ่าน เทคโนโลยีต่าง ๆ ล้วนพัฒนาขึ้น ดังนั้นเราจึงเห็นผลงานของแฟน ๆ ชาวไทย สร้างเกมที่น่าสนใจออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ วันนี้มีอีกเกมที่น่าสนใจมาแนะนำ และเพิ่งวางจำหน่ายมาได้สด ๆ ร้อน ๆ เมื่อสัปดาห์ก่อน วันนี้เรามาดูกันว่า Into the Haze เกมนี้มีความเจ๋งขนาดไหนกันบ้าง

แหวกแนวกฎของการเอาตัวรอด

โดยปกติแล้ว เกมแนว Survival แบบนี้ จะต้องเป็นการผจญภัยแบบโลกเปิด หรือ Open World ที่เรารู้จักกันดี เพราะ Open World จะสามารถใส่อะไรเข้าไปได้เยอะ ทั้งระบบ เกมเพลย์ ทรัพยากรต่าง ๆ ทำให้เกมดูมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น แต่ Into the Haze นั้น ต่างออกไป

คอนเซปต์ของ Into the Haze คือการเอาตัวรอดอยู่ในสถานที่ปิด แต่เต็มไปด้วยทรัพยากรแทน ผู้เล่นจะติดอยู่บนตึกสูง 40 ชั้น เริ่มเกมมาด้วยชั้น 40 และหาทางปลดล็อคชั้นล่างลงไปเรื่อย ๆ ถือเป็นไอเดียความคิดที่แหวกแนวเอาเรื่อง

ตัวเกมบอกว่าให้เราเอาตัวรอดจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง ซึ่งจากที่เห็นในเกมคือ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ชั้นที่ 40 ที่เราอยู่ มีความเป็นไปได้ว่า เราจะต้องเจาะลงไปยังชั้นล่างสุด เพื่อรอจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง โดยการหาทรัพยากรเพิ่ม ประทังชีวิตไปเรื่อย ๆ นั่นเอง แน่นอนว่าเกมนี้เองก็ไม่ได้มีกลไกหรือระบบการเล่นที่ยุ่งยากกว่าเกมทั่วไปอยู่แล้ว ใครที่เคยเล่นเกมแนว Survival มาก่อน จะรู้เลยว่าระบบแต่ละอย่างนั้นใช้งานยังไง เอาไว้ทำอะไร

และที่ขึ้นชื่อมากในตอนนี้คือ ด้วยความที่ตัวเกมอยู่ในช่วง Early Access ทำให้หลายอย่างยังไม่สมบูรณ์ ส่วนหนึ่งที่ยังไม่ลงตัว คือความยากของเกม ต่อจากนี้เราจะมาว่ากันในส่วนของเกมเพลย์

เกมเพลย์การเล่นแบบเอาตัวรอดในสถานที่จำกัด

ข้อดีของ Into the Haze คือพอเกมมันไม่ใช่โลกเปิด Open World ขนาดใหญ่ ทำให้สเกลเกมมันเล็กลงมา แต่เพิ่มความกดดันในการหาทรัพยากรเข้าไปแทน จะมีจุดตำหนิเล็กน้อยตรงที่ แม้ว่าจะเป็นเกมในพื้นที่แคบ แต่สุดท้ายแล้ว ด้วยความที่เกมมันเป็น Early Access เลยทำให้เกิดปัญหาการกระตุก บัค และการแสดงผล โหลดฉากไม่ทันอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นปัญหาปกติที่เราต้องเจอใน Early Access

เงื่อนไขการเอาตัวรอดของเกมนี้คือเราต้องอยู่รอด ตัวเอกของเราจะมีค่าพลังที่ต้องคอยเติมเสมอนั่นคือ ความกระหาย (น้ำ) ความหิว (อาหาร) ความอบอุ่น และความเหนื่อยล้าที่เราต้องนอนพักผ่อนถึงจะเติมให้เต็มได้ แต่ความยากมันอยู่ตรงที่ตอนนี้ตัวเกมมันออกแบบมาให้ตัวละครเรามีค่าความหิวและความกระหายที่เร็วเกินไป จากที่ผู้เขียนลองเล่นมา แค่วันแรกก็ลำบากมากแล้ว เพราะกว่าจะหาของมาซ่อมอุปกรณ์ได้ ก็เกือบตายไปหลายรอบ ถ้าคนเล่นแบบไม่รู้วิธีหาของก็น่าจะมีการตายเกิดขึ้นบ้าง

ในเรื่องของอาหารการกิน สิ่งที่เราต้องรีบทำในช่วงแรก คือเครื่องกรองน้ำ เพื่อให้น้ำดื่มของเราสะอาด ถ้าดื่มน้ำที่ปนเปื้อน แม้จะดับกระหายได้ แต่ก็เสี่ยงร่างกายจะได้รับผลกระทบ และทำให้เราติด Debuff เสี่ยงทำให้ตัวละครตายได้ ในส่วนของอาหาร ช่วงแรกต้องใช้ที่ดักสัตว์ ดักหนูมาปรุงกินกันไปก่อน และมีโอกาสเจอไอเทมจำพวกขนม มันฝรั่ง ระหว่างเราออกไปฟาร์มนั่นเอง

การนอนในเกมนี้ เราสามารถปรับเวลาได้ ว่าจะให้ตื่นตอนไหน แต่ถ้าจะนอนแล้วทรัพยากร หรือความหิวเกิดหมด เกมจะบังคับให้เราตื่นในตอนนั้น ๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญในเกมคือ บริหารทรัพยากรให้ดีในช่วงแรก

ใน 1 ชั้นจะมีไอเทมให้เก็บมากพอสมควร และก่อนที่เราจะปลดล็อคลงไปชั้นล่างเรื่อย ๆ เราต้องมั่นใจก่อนว่าเรามีทรัพยากร และความพร้อมมากพอ ตั้งแต่ชั้น 39 ลงไป ในแต่ละชั้นจะมีก๊าซพิษที่เราต้องรับมือด้วย ซึ่งเราต้องคราฟท์ที่กรองอากาศติดตัวไป และเมื่อลงไปชั้นลึกขึ้นก็จะมีศัตรูประเภทซอมบี้ให้เรารับมืออีกต่างหาก

โดยรวมความกดดันหลัก ๆ ของ Into the Haze คือการรีบหาทรัพยากรภายใต้เวลาที่จำกัด และคาดว่าจากกระแสของผู้เล่นตอนนี้ อาจจะมีการปรับความหิว ความกระหายให้ลดช้าลงหน่อย เพื่อให้เกมเล่นได้ง่ายขึ้น

อนาคตของตัวเกม

ตอนนี้ตัวเกมยังคงอยู่ในช่วง Early Access และตอนนี้เราได้พยายามลองหาโรดแมปของผู้พัฒนาแล้ว แต่ยังไม่มีการเปิดเผยออกมาว่าจะมีทิศทางการพัฒนาไปในทิศทางไหน แต่คาดว่าจะมีการอัปเดตตามออกมาในอนาคต และตอนนี้ประสิทธิภาพตัวเกมก็ไม่ได้แย่จนเกินไปนัก ถ้าเทียบกับราคา 151 บาท ก็ถือว่าเล่นได้เพลิน ๆ คุ้มเกินราคา ที่เหลือก็รอลุ้นการพัฒนาของทีมงานว่าจะพาเกมไปถึงเวอร์ชั่น 1.0 ได้ดีแค่ไหน และเรียกผู้เล่นหน้าใหม่ได้อย่างไร

Into the Haze วางจำหน่ายแล้วในราคา 151 บาท